เปิด 4 บริษัทประกันภัย รับโอนพอร์ต “เจ้าสัว” เบี้ยหมื่นล้าน

การเลิกกิจการของ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ธุรกิจในกลุ่มเครือไทยโฮลดิ้งส์ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ใกล้จบแล้ว ล่าสุดกระบวนการเดินทางมาถึงขั้นตอนการถ่ายโอนกรมธรรม์ที่ไม่ใช่ประกันโควิด-19 (Non-COVID) ที่มีมูลค่าสูงกว่า 10,000 ล้านบาท ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น ๆ เพื่อรับไปคุ้มครองลูกค้าผู้เอาประกันต่อ ซึ่งพบว่าเค้กก้อนนี้สุดท้ายแล้วตกไปอยู่กับบริษัทประกันวินาศภัย 4 รายด้วยกัน

แหล่งข่าวจากวงในธุรกิจประกันภัยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พอร์ตกรมธรรม์ประกัน Non-COVID ของอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย มีลูกค้ารวมกัน 8.63 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกันรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เบี้ยประกันรถยนต์ (motor) มูลค่า 7,000 ล้านบาท และอีก 3,000 ล้านบาท เป็นเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถ (nonmotor) ประกอบด้วย กลุ่มประกัน PCM อาทิ 1.ประกันภัยทรัพย์สินและเบ็ดเตล็ด (property & casualty) 2.ประกันภัยขนส่งทางทะเล (marine) รวมกันประมาณ 2,000 ล้านบาท และ 3.ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและประกันสุขภาพ 1,000 ล้านบาท

“มี 4 บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับโอนพอร์ตประกัน Non-COVID ไป คือ 1.บมจ.อินทรประกันภัย 2.บมจ.ทิพยประกันภัย 3.บมจ.กรุงไทยพานิชประกันภัย และ 4.บมจ.แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ ซึ่งแต่ละบริษัทได้เริ่มรับโอนไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา” แหล่งข่าวกล่าว

“อินทรฯ” กุมพอร์ตใหญ่ 7 พันล้าน
ทั้งนี้ พอร์ตประกันรถยนต์ทุกประเภท และกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุและสุขภาพประเภทอื่น ๆ รวมถึงประกันภัยทรัพย์สิน เบ็ดเตล็ด และประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (มารีน) ประเภทอื่น ๆ ตกไปอยู่กับ “อินทรประกันภัย” ซึ่งเป็นบริษัทประกันอีกหนึ่งแห่งในเครือไทยโฮลดิ้งส์ กลุ่มธุรกิจการเงินและประกันของ “เจ้าสัวเจริญ” หรือ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” นั่นเอง

“ทิพยฯ” คว้า “ทรัพย์สิน-มารีน”
ส่วนพอร์ตใหญ่ที่เป็น nonmotor ทาง “ทิพยประกันภัย” ได้ไป ประกอบด้วย กรมธรรม์อาคเนย์โฮมการ์ด, กรมธรรม์อาคเนย์สรรพภัย, ประกันภัยคุ้มครองสิทธิการเช่า, Domestic Fire Plus, Household Disaster (2558), Natural Catastrophe, ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก, ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่, Extra Public Liability, ประกันภัยเงินทดแทนแรงงาน, ประกันโคนม, ประกันภัยการค้ำประกันลูกจ้าง,

กรมธรรม์ประกันภัยการสูญเสียทางการเงิน สำหรับสินค้าเช่าซื้อประเภทรถยนต์, ประกันภัยการสูญเสียทางการเงิน สำหรับสินค้าเช่าซื้อประเภทรถจักรยานยนต์, ประกันภัยชดเชยผลประโยชน์จากอุบัติเหตุการใช้รถยนต์, ประกันภัยชดเชยผลประโยชน์จากอุบัติเหตุหรือการใช้รถจักรยานยนต์, ประกันภัยรถยนต์ คุ้มครองส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินเอาประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจกับราคาตลาด สำหรับอายุรถยนต์ไม่เกิน 5 ปี,

กรมธรรม์ประกันภัยสินเชื่อทางการค้า, ประกันภัยข้าวนาปี, ประกันภัยข้าวโพด, ประกันภัยเพื่อการใช้เรือกลเดินทะเล เฉพาะเขตที่ใช้ในกิจการพิเศษ ประเภทเจ็ตสกีเพื่อเช่า, ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ, Terrorism and Political Violence Insurance Policy, Goverment Housing Bank (HOD), ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย (เฉพาะงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส.) และประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (เฉพาะงาน ธอส.)

“กรุงไทยพานิชฯ” รับพอร์ตย่อย
ขณะที่ “กรุงไทยพานิชประกันภัย” ได้ไป 4 พอร์ต ซึ่งมูลค่าไม่สูงนัก คือ กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง, ประกันภัยเครื่องจักร, ประกันภัยเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดัน

ประกันภัย

“แปซิฟิคฯ” รับพอร์ต “สุขภาพ”
ส่วนพอร์ตประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ ราว 1,000 ล้านบาท ทาง “แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ” ได้ไป ประกอบด้วย กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ พีเอ พลัส, ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล พีเอ สุขใจ, ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล พีเอ โปรเทค, ประกันอุบัติเหตุสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันซ์), ประกันภัยการเดินทางไปต่างประเทศ, ประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุกลุ่มเฮลท์ พลัส, ประกันภัยสุขภาพ Health Insurance (Lamp), ประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล, ประกันคุ้มครองสินเชื่อสบายใจ (แบบกลุ่ม), ประกันภัยโรคมะเร็ง แคนเซอร์ แคร์,

กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม อาคเนย์ห่วงใย, ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม สำหรับสถานศึกษา, ประกันภัยการเดินทางกลุ่ม แบบพิเศษ, ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม, ประกันอุบัติเหตุผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสาร, ประกันอุบัติเหตุกลุ่มนักเรียน นิสิต และนักศึกษา, ประกันอุบัติเหตุเดินทางสำหรับบุคคลหรือกลุ่มทั่วไป, ประกันภัยโรคไข้เลือดออก, ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล, ประกันภัยอุบัติเหตุประเภทผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ไม่ระบุชื่อ, ประกันสุขภาพส่วนบุคคล, ประกันอุบัติเหตุเดินทางสำหรับบุคคลหรือกลุ่มทั่วไป และประกันอุบัติเหตุเดินทางสำหรับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

“ประกันโควิด” รอชำระบัญชี
แหล่งข่าวจากแวดวงประกันภัยอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ถือว่าเป็นไปตามคาดว่าการโอนพอร์ต Non-COVID ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์จะโอนไปให้ “อินทรประกันภัย” ในเครือเจ้าสัวเจริญเอง ก็คือพอร์ตส่วนใหญ่ยังคงทำต่อ ส่วนพอร์ตประกันภัยโควิดส่วนที่เหลือจากที่ลูกค้าไม่ขอคืนเบี้ย สุดท้ายแล้วอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี เนื่องจากประเมินว่าระดับเงินกองทุนของอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย จะเหลือไม่เพียงพอในช่วงก่อนที่ทุกกรมธรรม์จะหมดอายุความคุ้มครอง

“ประเมินจากยอดผู้ติดเชื้อโควิดตอนนี้แล้ว เงินกองทุนคงไม่พอ และทั้ง 2 บริษัทก็คงไม่เพิ่มทุนแล้ว ก็ต้องรอให้กองทุนประกันวินาศภัยรับไปชำระหนี้ให้ลูกค้าต่อ ซึ่งจะจ่ายได้สูงสุดรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี กองทุนประกันวินาศภัยไม่น่าจะมีเงินเพียงพอชำระหนี้ ก็ต้องติดตาม” แหล่งข่าวกล่าว

หลังจากนี้คงต้องติดตามว่า ทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะพิจารณาอย่างไรต่อไป โดยบอร์ด คปภ. จะพิจารณาเรื่องการขอยกเลิกการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของทางอาคเนย์ประกันภัยกับไทยประกันภัยในเร็ว ๆ นี้ หลังจากทั้ง 2 บริษัทจัดการเรื่องการโอนพอร์ตเสร็จแล้ว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

admin