คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยกัน
ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
หากเทียบเศรษฐกิจกับชีวิตคน เราย่อมอยากเห็นคนเจริญเติบโตจากวัยเด็กสู่วัยทำงาน สร้างครอบครัวและชราลงอย่างมีคุณภาพ ในด้านเศรษฐกิจก็เช่นกัน เมื่อก้าวเข้าสู่สถานะกำลังพัฒนา หรือการมีรายได้ปานกลาง เราคงคาดฝันให้เศรษฐกิจโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศรายได้สูง
การเรียนรู้บทเรียนของประเทศอื่นที่เดินบนเส้นทางเดียวกันมาก่อนหน้า จะช่วยให้เราได้ทบทวนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเดินหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางใด บทความนี้จึงขอแบ่งออกเป็นสองส่วน เริ่มจากมองภาพรวมระหว่างประเทศ แล้วจึงเจาะลึกลงที่เส้นทางของไทย
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ยั่งยืนเสมอไป เห็นได้จากการทบทวนตัวอย่างของประเทศที่ก้าวเข้าสู่สถานะกำลังพัฒนาหลังปี 1950 เป็นต้นมา โดยจำแนกออกได้เป็นสามกลุ่ม
1) กลุ่มเรียนจบ – ต่อยอดการพัฒนาจนกลายเป็นประเทศรายได้สูง เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญที่รู้จักกันดีตามทฤษฎีฝูงห่านป่า โดยมีญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูง ตามด้วยห่านป่าระลอกสอง คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ประเทศเอเชียเหล่านี้ได้บินฝ่าคลื่นลมวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในโลกและภูมิภาค จนบางช่วงบางตอนอาจเผชิญกับการชะลอตัวลง บางครั้งเจอกับทศวรรษทางเศรษฐกิจที่สูญหาย แต่ก็ยังยืนยงคงความเป็นประเทศพัฒนาแล้วไว้ได้ เหมือนคนที่เรียนจบการศึกษาแล้วมีคุณวุฒิติดตัว ไม่ต้อง
กลับเข้าโรงเรียนอีก
2) กลุ่มติดหล่ม – ผ่านช่วงเวลาก้าวเข้าสู่ฐานะกำลังพัฒนามาเนิ่นนาน แต่ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไม่สามารถพุ่งทะยานทะลุเพดานได้ นักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน อาทิ อาจารย์ Eichengreen และคณะเห็นว่าหากประเทศไม่สามารถก้าวผ่านเส้นรายได้ต่อหัวสำคัญ คือ 10,000 เหรียญ และ 15,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดตามมูลค่าที่แท้จริงในปี 2005 แล้ว ประเทศเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะ “ติดหล่ม” อยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง
น่าสังเกตว่าเส้นรายได้ต่อหัวที่แท้จริงนี้ ไม่อาจก้าวข้ามได้ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในลักษณะ “ประชานิยม” ตามที่หลายประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาเคยกระทำ เพราะรายได้ต่อหัวที่แท้จริงคำนวณจากทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและเงินเฟ้อของประเทศ ซึ่งการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตเกินระดับศักยภาพในช่วงสั้น ๆ จะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่และทำให้ราคาสินค้าและบริการรวมทั้งค่าเงินไม่สะท้อนฐานะพื้นฐานทางเศรษฐกิจจึงสร้างผลกระทบเชิงลบในระยะยาว เป็นบทเรียนให้ประเทศอื่นระมัดระวังไม่ติดกับดักดังกล่าว
3) กลุ่มไปต่อ – ก้าวผ่านเส้นแบ่งรายได้ปานกลางมาไม่นานเทียบกับสองกลุ่มก่อนหน้า จึงยังอยู่บนทาง “สองแพร่ง” ของการเดินตามรอยกลุ่มเรียนจบ หรือติดกับดักเหมือนกลุ่มติดหล่ม ประเทศที่มีความโดดเด่นในกลุ่มนี้ คือ มาเลเซีย ซึ่งเดิมคาดว่าจะเดินหน้าผ่านเส้น 15,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และทะยานไปเป็นประเทศรายได้สูงไม่ยากนัก อย่างไรก็ดี วิกฤตโควิดและความผันผวนของราคาพลังงานโลกในทศวรรษที่ผ่านมาทำให้มาเลเซียต้องรอไปก่อน
ไทยเองก็อยู่ในกลุ่มสุดท้ายนี้ แต่มีข้อน่ากังวลไม่น้อย คือ หากเศรษฐกิจไทยยังเติบโตอย่างช้า ๆ ในอัตราเดียวกับค่าเฉลี่ยในช่วงสิบปีหลัง เรียกว่ากรณี ไทยไปเรื่อย เราจะมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็น “ไทยติดหล่ม” เพราะมีตัวเลขใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันของกลุ่มติดหล่ม
ทั้งนี้ ไทยยังอยู่บนทางสองแพร่งของการพัฒนา หากใช้ข้อสมมุติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดให้ไทยยกระดับเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2037 หรือเรียกว่ากรณี “ไทยเรียนจบ” นั้น
จะพบว่าเราต้องเร่งให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาไม่ถึงสองทศวรรษที่เหลืออยู่ เป็นการเติบโตที่ถือได้ว่าเร็วยิ่งกว่าตัวเลขการเติบโตของกลุ่มห่านป่าเอเชีย ที่อาจเรียกเป็นกรณี ไทยตามรอย จึงเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่งยวดแล้วไทยจะเดินหน้าประเทศได้อย่างไร
สามโอกาสเดินหน้าเศรษฐกิจไทย คือ ดิจิทัล green และการพัฒนาเชิงพื้นที่ การเกิดวิกฤตโควิดย่อมทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกหยุดชะงัก และหดตัวลงในช่วงสั้น ๆ ประเทศไทยเองได้รับผลกระทบมากและใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น
เพราะเราพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก อย่างไรก็ดี โควิดได้นำมาซึ่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นสามโอกาสให้เราใช้เป็นสปริงบอร์ดในการทะยานขึ้นสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้เช่นกัน
1) โอกาสจากดิจิทัล : ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลสูงมาก โดยรายงานของ Google Temasek และบริษัท Bain ระบุว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเติบโตกว่าเท่าตัวเทียบก่อนและหลังโควิด จากยอดใช้จ่าย e-Commerce เป็นสำคัญสอดรับกับกระแสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในวงกว้างตามการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการคนละครึ่ง
2) โอกาสจาก green : ประเทศไทยมีธุรกิจขนาดใหญ่ 25 รายได้รับเลือกให้อยู่ใน DJSI-Dow Jones Sustainability Indices ทั้งธุรกิจพลังงาน ขนส่ง อาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมกับผู้ผลิตและผู้ให้บริการรายย่อยจำนวนมาก ธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้จึงสามารถถ่ายทอดการรับปฏิบัติตามมาตรฐานสีเขียวในระดับโลกไปสู่คู่ค้า supplier ต่าง ๆ
โดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ เราจะเห็นถึงโอกาสในการส่งออก carbon credits จากการที่ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติมาก โดยพบว่าธุรกิจไทยขนาดใหญ่เริ่มติดต่อขอซื้อ carbon credits จากเกษตรกรในภูมิภาคผ่านภาควิชาการในท้องถิ่นแล้ว
3) โอกาสจากการพัฒนาเชิงพื้นที่ – เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างรายได้ผ่านอุตสาหกรรม S-curve โดยมีเคล็ดลับแห่งความสำเร็จ คือ ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนภายใต้การปลดล็อกข้อจำกัดกีดขวางการดำเนินธุรกิจ
ดังนั้น การต่อยอดความร่วมมือและการปลดล็อกข้อจำกัด อาทิ การพัฒนาทักษะร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย โรงงาน และแรงงาน จะเป็นต้นแบบให้กับทุกพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษควรขยายจากการกำหนดตามภูมิศาสตร์ไปเป็นการกำหนดตามกิจกรรม เช่น เขตพัฒนาพิเศษการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงทั้งภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และใต้ หรือเขตพัฒนาพิเศษเมืองอัจฉริยะ ที่ไม่ผูกกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่สร้างระบบนิเวศ หรือ ecosystem ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ได้ทั่วประเทศ
โดยสรุปแล้ว การเดินหน้าประเทศให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ต้องเร่งการพัฒนาบนโอกาสด้านดิจิทัล green และการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีแรงงานคืนถิ่นกลับไปหลังโควิดเป็นจำนวนมาก แต่จะเป็นสปริงบอร์ดสำคัญให้เราเดินตามรอยการพัฒนาของฝูงห่านป่าเอเชีย ซึ่งโอกาสทองนี้ต้องรีบคว้าไว้ มิฉะนั้น เราอาจปล่อยเศรษฐกิจเดินหน้าเรื่อย ๆ ช้า ๆ จนติดหล่มตามตัวอย่างบางประเทศละตินอเมริกาที่นักวิชาการอ้างอิงข้างต้น
หมายเหตุ – บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance