เงินบาทอ่อนค่าท่ามกลางข้อขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เฟดจ่อขึ้นดบ.สัปดาห์หน้า

ค่าเงินบาทอ่อนค่าท่ามกลางข้อขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เฟดเตรียมขึ้นดอกเบี้ยสัปดาห์หน้า ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม 2565 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่เป็นดัชนีชี้วัดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกับค่าเงินสกุลหลัก ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2563 ที่ระดับ 99.4 โดยได้รับแรงหนุนจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 678,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 440,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.8% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.9% ทั้งนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ม.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 481,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 467,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ธ.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 588,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 510,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งข้อพิพาทและความเห็นที่แตกต่างยังทำให้การเจรจาระหว่างสองประเทศยังไม่คืบหน้า ซึ่งความยืดเยื้อดังกล่าวก่อให้เกิดผลตามมา ซึ่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งสิ้น

โดยประเทศต่าง ๆ เริ่มประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย อาทิ การงดการนำเข้าน้ำมันและสินค้าจากรัสเซีย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศเตือนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตยูเครน โดยระบุว่า ความขัดแย้งในยูเครนได้ทำให้ราคาพลังงานและธัญพืชพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งยังมีผู้อพยพกว่า 1 ล้านคนไหลเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

IMF ระบุว่า วิกฤตดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่ออัตราเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่มีแรงกดดันด้านราคาสูงอยู่แล้ว และด้วยแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้น IMF จึงได้เตือนให้รัฐบาลต่าง ๆ เตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีโอกาสเกิดขึ้น

ทั้งนี้สถานการณ์ล่าสุดนั้นในช่วงคืนวันพุธ (9/3) นักลงทุนเริ่มผ่อนคลายความกังวลและกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้งหลังมีข่าวรายงานว่ายูเครนได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และนางมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเปิดเผยว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนเพื่อแก้ไขความขัดแย้งนั้นกำลังมีความคืบหน้า พร้อมกับยืนยันว่ารัสเซียไม่มีความประสงค์ที่จะโค่นล้มรัฐบาลยูเครน และไม่มีเป้าหมายโจมตีพลเรือน

อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างสองฝ่ายยังดำเนินต่อไป โดยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงจับตาไปที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงกลางสัปดาห์หน้า (15-16/3) โดยเฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนนี้ ซึ่งไม่รุนแรงเหมือนกับที่นักวิเคราะห์บางรายคาดว่าจะปรับขึ้น 0.50% โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ซึ่งล่าสุดในคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (10/3) สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นสัญญาณชี้วัดเงินเฟ้อตัวหนึ่ง โดยตัวเลขออกมาอยู่ที่ 7.9% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

ในส่วนของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวัน (7/3) ที่ระดับ 32.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/3) ที่ระดับ 32.70/72 บาท ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเชิงอ่อนค่า โดยได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ การยืดเยื้อของการต่อสู้ระหว่างรัสเซียและยูเครน ตัวเลขการติดเชื้อโควิดในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบต่อดุลการค้าของประเทศหลังราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาเหล่านี้ได้ถูกสะท้อนออกมาความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ระดับ 86.7 จากระดับ 88.0 ในเดือน ม.ค. 65 โดยค่าดัชนีปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

นอกจากนี้ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดเผยว่า ปัญหาการสู้รบของรัสเซียและยูเครน จะส่งผลต่อเป้าจำนวนนักท่อเที่ยวต่างชาติและรายได้ในไตรมาส 1 ที่ไม่เป็นไปตามแผนแน่นอน คาดว่าจะลดลง 30-40% จากที่ตั้งไว้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 338,645 คน สร้างรายได้ 26,065 ล้านบาท เพราะนอกจากการลดลงของนักท่องเที่ยวรัสเซีย คงจะกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวยุโรป

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวนอกกรอบระหว่าง 32.74-33.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (11/3) ที่ระดับ 33.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (7/3) ที่ระดับ 1.0837/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/3) ที่ระดับ 1.1015/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเงินยูโรเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตต) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกในยูโรโซนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือน ม.ค. โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 7.8% เมื่อเทียบรายปี นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึน 9.1% เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกในยูโรโซนได้รับผลกระทบจากยอดขายน้ำมันที่ลดลง และการใช้จ่ายด้านอาหารที่ชะลอตัว ขณะที่เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น เป็นปัจจัยลดกำลังซื้อของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ในวันพฤหัสบดี (10/3) ค่าเงินยูโรฟื้นตัวในช่วงสั้น โดยปรับตัวขึ้นทดสอบระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ระดับ 1.1120 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยส่งสัญญาณยุติการซื้อพันธบัตรในไตรมาส 3 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยจะปูทางสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากพุ่งขึ้น 5.8% ในเดือน ก.พ. สูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2% ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0806-1.1120 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/3) ที่ระดับ 1.0978/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (7/3) ที่ระดับ 114.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/3) ที่ระดับ 115.39/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวแข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์ หลังได้รับแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน

อย่างไรก็ตาม หลังคืนวันพุธ (9/3) สถานการณ์ความตึงเครียดเริ่มเบาบางลง นักลงทุนเลยทยอยขายเงินเยนอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุผลสำคัญอีกประการคือ การที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับร้อยละ 2 อีกครั้ง ก่อนการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า โดยเฟดมีแผนขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ผลตอบแทนของสหรัฐจะมีความแตกต่างกับญี่ปุ่นมากขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้สินทรัพย์และค่าเงินญี่ปุ่นมีความน่าสนใจลดลง ทั้งนี้ค่าเงินอ่อนค่ามากที่สุดแตะระดับ 117.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงบ่ายวันศุกร์ (11/3) ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.95-117.04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/3) ที่ระดับ 116.97/117.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

admin