ข่าวเชิงวิเคราะห์ “บิทคับ ยูนิคอร์นสายพันธุ์อันตราย!?” ตอนที่ 5
เทียบแพลตฟอร์มบิทคับกับไบแนนซ์ พบเก็บค่าธรรมเนียมแพงกว่าเท่าตัว ค่าถอนโขกส่วนต่างระยับ 17 บาทต่อรายการ ไม่เปิดฟีเจอร์ป้องลูกค้าตัดขาดทุน ผวาระบบล่มซ้ำ-แฮกเกอร์เจาะ โอ่เชื่อมต่ออนาคตแต่วันนี้ยังเชื่อมต่อระบบดั้งเดิม แถมขายให้แบงก์ นวัตกรรมไม่ใหม่ จับตาพร้อม “Exit” 100% บทสรุปสุดท้ายยูนิคอร์นไทย = Marketing Company
กรณีกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCBX มีความต้องการจะซื้อหุ้นบิทคับ ออนไลน์ ผู้ให้บริการศูนย์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 51% คิดเป็นมูลค่ากว่า 17,850 ล้านบาท โดยนับตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 ที่ประกาศข่าวออกมา ผ่านมาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้วดีลนี้แม้แต่การยื่นขออนุญาตอย่างเป็นทางการจากธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังไม่เกิดขึ้น!
ความล่าช้าของดีลนี้ วิเคราะห์กันว่า มีความเป็นไปได้ทั้ง SCBX และกลุ่ม บิทคับ อาจจะกำลังต่อรองกันอย่างหนัก ภายหลัง SCBX ได้เข้าตรวจสอบวิเคราะห์สถานะทางธุรกิจ หรือดีลดิลิเจนท์ พบเห็นอะไรที่ “ไม่ตรงปก” หรือไม่? เช่น ปัญหาบัญชีสมาชิกที่ยังไม่รู้ว่า ในจำนวน 3 ล้านบัญชีมีผู้ลงทุนตัวจริงที่พิสูจน์ตัวตนได้เท่าไหร่ ที่พิสูจน์ไม่ได้ เป็น “นอมินี” หรือ “บัญชีม้า” ปะปนอยู่มากน้อยแค่ไหน ปริมาณการซื้อขาย รายได้ที่อาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่ “บิทคับ” โฆษณาชี้ชวน (ตามที่เคยวิเคราะห์ไว้ในตอนที่ผ่านมา) เป็นต้น
ขณะที่เกณฑ์การควบคุมดูแล จาก “Regulator” ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เห็น “ความเสี่ยง” จากการเข้าตรวจสอบบิทคับ และที่เกิดจากการทำตลาดอย่าง “บ้าคลั่ง” ของบิทคับก็ดี จนต้องออกประกาศ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หรือข้อ “ห้าม” ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการในหลายอย่างที่เป็นความเสี่ยงแก่ผู้ลงทุน องค์กรธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา และยังจะนำออกมาบังคับใช้อีกหลายมาตรการภายในกลางปีนี้
ยิ่งกรณีของ “KUB” เหรียญที่บิทคับออกมาแล้วซื้อขายในตลาดของตัวเอง ต่อมาเกิดอภินิหารที่อธิบายโดยปัจจัยพื้นฐานไม่ได้ว่า ทำไมราคาของเหรียญจึงพุ่งทะลุฟ้า จากราคา 30 บาท ขึ้นไปถึง 500 กว่าบาท หรือ บวกขึ้นไปเกือบๆ 1,800% ก่อนจะถูกเทขายราคาไหลรูดลงมา ซึ่งอธิบายได้อย่างเดียวว่านี่คือ “การสร้างราคา” หรือ “ปั่น” เหรียญเล่น “เก็งกำไร” ในตลาดทำให้เจ้ามือรวย คนที่ซวยก็คือ รายย่อย หรือแมลงเม่าทิ่บินเข้ากองไฟ โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบแล้ว ซึ่งอีกไม่นานคงจะมีคำตอบให้สังคมอย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม ก.ล.ต.เล็งสอบ ปั่น “KUB-JFIN-SIX” หลังพบความผิดปกติราคาผันผวนรุนแรง
ว่ากันว่า ปรากฏการณ์ปั่น “KUB” เย้ยฟ่าท้าดิน หากเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าออกหุ้นเอง เทรดเอง ลักษณะนี้ย่อมมีการใช้ข้อมูลภายใน การสร้างราคา เพื่อประโยชน์ของตัวตลาดเองอย่างไม่ต้องนำสืบ ตลาดนั้นๆ จะไม่ต่างกับ “บ่อนพนัน” และย่อมเกิดคำถามกับ SCBX ที่จะให้ บล.หลักทรัพย์ของตัวเองเข้าไปถือหุ้นใน “บ่อนพนัน” เช่นนี้หรือ?
เงินลงทุน 17,850 ล้านบาท โดยเหตุผลต้องการเชื่อมต่อกับโลกการเงินดิจิทัล หรือ โลกอนาคต เป็น “วิชัน” ที่ไม่อาจจะปฏิเสธเทรนด์ของโลกการเงิน แต่สิ่งที่เป็นไปและจะได้มาคือ “ตลาดซื้อขายคริปโตฯ” ที่ภาพกลายเป็นแหล่งพนันไปแล้ว เชื่อได้ว่า SCBX เองก็ต้องคิดหนัก
อ่านเพิ่มเติม KUB-JFIN กอดคอกันร่วง หลังนักเทรดแห่เทขายทำกำไร
ไบแนนซ์ ตัวเปลี่ยนเกม
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ SCBX จะต้องคิดหนักแน่ๆ คือ การเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยของ Cryptocurrency Exchange เบอร์หนึ่งโลก อย่าง Binance แม้บิทคับจะเคลมว่า ตัวเองเป็นเจ้าตลาดของศูนย์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย แต่สำหรับนักลงทุนคริปโตฯ ไทยรู้จักไบแนนซ์มาก่อนบิทคับตั้งนานแล้ว และเปิดบัญชีกับไบแนนซ์ไม่น้อย ซึ่งเป็นไปได้สูงว่า จำนวนบัญชีและปริมาณการซื้อขายในปัจจุบันของคนไทยอาจจะมากกว่าบิทคับเสียด้วยซ้ำ
การมาของไบแนนซ์ จะเป็นตัวเปรียบเทียบ และเปลี่ยนเกมตลาดคริปโตฯ เมืองไทยอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยมาตรฐานแพลตฟอร์มที่เป็นสากลระดับโลก และพิสูจน์ตัวเองด้านระบบการซื้อขาย และความปลอดภัย ระดับของเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอด จะเป็นจุดที่นักลงทุนจะสัมผัสเปรียบเทียบกันได้ เรียกว่า ไบแนนซ์อยู่เหนือบิทคับทุกประตู
สิ่งสำคัญที่สุดของ Cryptocurrency Exchange หรือแม้แต่ตลาดหุ้นคือ การซื้อขายที่เป็นธรรม ไบแนนซ์ที่ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งโลกย่อมต้องได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุน แต่สำหรับบิทคับนั้นยังเต็มไปด้วยคำถาม
ขณะที่บิทคับเริ่มต้นมา 3 ปีเศษ มีรายงานจากการเข้าตรวจสอบของ ก.ล.ต.บ่งชี้พบข้อบกพร่อง การทำธุรกิจไม่รัดกุมเพียงพอ ระบบขาดประสิทธิภาพอยู่เป็นระยะ ตั้งแต่การเปิดบัญชี การพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า Market Marker การซื้อขาย การปล่อยให้มีการสร้างราคาของ KUB รวมไปถึงการปล่อยให้ “คนนอก” เข้ามามีอิทธิพลต่อการบริหารจัดการในตลาดซึ่งเป็นข้อที่หนักหนาสาหัสกับธรรมาภิบาลที่จำเป็นต้องมีสำหรับ Exchange
วันที่ ไบแนนซ์ซึ่งจับมือกับกัลฟ์ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงาน เปิดศูนย์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยเมื่อไหร่ ภาพการเปรียบเทียบระหว่าง Exchange สองรายนี้จะยิ่งชัดขึ้น
เทียบไบแนนซ์ VS บิทคับ กระดูกคนละเบอร์
ลองมาเปรียบเทียบไบแนนซ์ กับบิทคับกันดู จากการสัมผัสของลูกค้าที่เปิดทั้งสองบัญชีใช้บริการซื้อขายคริปโตฯ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า โดยพื้นฐานเปิดบัญชีกับไบแนนซ์สะดวกและรวดเร็วกว่า แม้จะปลอดภัยสูงกว่าบิทคับแต่ถ้าผ่านการพิสูจน์ตัวตนได้ใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที กับบิทคับต้องใช้เวลานาน 15-30 วัน การใช้งาน “ล็อกอิน” ไบแนนซ์เข้าง่าย แต่บิทคับขั้นตอนยุ่งยาก
ขณะที่จำนวนเหรียญในกระดานเทรดไบแนนซ์มีมากกว่าบิทคับหลายเท่าตัว ซึ่งมาพร้อมกับสภาพคล่องที่แตกต่างกันด้วยปริมาณการซื้อขายหมุนเวียนที่มากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ขณะที่บิทคับเทรดเฉลี่ยวันละไม่ถึง 1 ล้านดอลลาร์ สภาพคล่องถือว่าน้อยกว่ามากไม่นับรวมเรื่องของการการโอนเหรียญคริปโตฯ ระหว่างกระดานเทรดหรือระหว่างแพลตฟอร์ม ไบแนนซ์มีความหลากหลายและทางเลือกมากกว่า
ค่าธรรมเนียมบิทคับแพง-ค่าถอนโหด
ค่าธรรมเนียมในการเทรด ไบแนนซ์คิด 0.1% หรือซื้อ-ขายไปกลับอยู่ที่ 0.2% หากใช้เหรียญ BNB หรือเหรียญไบแนนซ์ เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมได้ 25% ขณะที่บิทคับ จะคิดค่าธรรมเนียมในการเทรด 0.25% ไปกลับซื้อ-ขาย เก็บค่าต๋ง 0.50% ถือว่าแพงกว่า ไบแนนซ์เกือบเท่าตัว และเมื่อมีการถอนบิทคับ จะคิดค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อรายการกับนักลงทุน ซึ่งว่ากันว่าเป็นค่าธรรมเนียมที่ “มหาโหด” ที่คนในวงการการเงินมองว่า บิทคับเอากำไรเกินควร ทั้งๆ ที่แบงก์คิดค่าธรรมเนียมค่าบริการกับบิทคับเพียง 3 บาทต่อรายการ แต่บิทคับเอามาเรียกเก็บจากลูกค้าเพิ่มถึง 17 บาท
ฟีเจอร์แตกต่าง บิทคับไม่มี stop Limit
ในด้านฟังก์ชันหรือฟีเจอร์เครื่องมือทางเลือกในการลงทุน ไบแนนซ์มีมากกว่า ใช้งานง่ายกว่าบิทคับ ไม่ว่าจะเป็นการเทรดเหรียญแบบ Spot, Futures และ Options ตลอดจนการเทรดแบบใช้มาร์จิ้น ซื้อขายกันเองแบบ P2P รวมไปถึงการปล่อยกู้รับผลตอบแทน หรือ เก็บเหรียญเพื่อรับดอกเบี้ย
ที่สำคัญ ระบบการซื้อหรือขายของบิทคับ เล่นหรือลงทุนได้แบบ Spot อย่างเดียวซึ่งอาจจะเป็นสวรรค์ของนักลงทุนทำกำไรในช่วงตลาดขาขึ้น แต่สำหรับขาลงนั้นต้องบอกว่านรกมาเยือน ผู้ลงทุนมือใหม่มีโอกาสที่จะขึ้นไปพำนัก “บนดอย” แขวนตัวเองอยู่ไปราคาสูงไม่สามารถบริหารจัดการพอร์ตของตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ได้
ยิ่งหากดูรายละเอียดของการทำคำสั่งซื้อ-ขายเปรียบเทียบกันของสองแพลตฟอร์ม บิทคับ มักถูกลูกค้านักเล่นบ่นกรณีไม่สามารถกดซื้อหรือขายในราคาตลาดได้แบบเรียลไทม์บ่อยครั้ง จนสูญเสียโอกาสได้ราคาที่อยากจะซื้อหรือขาย
ขณะที่ฟีเจอร์ “Stop Limit order” หรือ เครื่องมือ “Cut Loss” ที่จะช่วยปกป้องผู้ลงทุนจากความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง สามารถกำหนดราคาเอาไว้ล่วงหน้าเมื่อถึงระดับที่ไม่สามารถแบกรับการขาดทุน ระบบจะเตือนให้ขาย หรือขายให้ทันที หากไม่ได้ติดตามหรือมอนิเตอร์การลงทุนของตัวเองแบบ 24 ชั่วโมง หรือเฝ้ากระดานเทรดได้ทั้งวันทั้งคืน ไบแนนซ์นั้นมีฟีเจอร์นี้เอาไว้ช่วยนักลงทุน แต่สำหรับบิทคับให้ใช้เฉพาะบิตคอยน์ และอีเทอร์เรียม ในวงการนักลงทุนคริปโตฯ ถือว่า เป็นข้อเสียอย่างร้ายแรงในสายตาของนักเทรด
ดังที่เกิดโศกนาฏกรรมกับการกอดคอดิ่งเหวของ 3 เหรียญ KUB JFIN และ SIX ที่ถูกเทขายเหมือนตั้งใจจากเจ้ามือทำ “ปลั๊กหลุด” อย่างเป็นปริศนา ในช่วงกลางคืนของวันที่ 30 พ.ย.2564 มีผลกระทบต่อรายย่อยชนิดที่ไม่สามารถตัดขาดทุนได้ทัน เหตุการณ์นั้นต้องบันทึกเอาไว้ในบัญชีหนังหมาของ ก.ล.ต.ว่า มีพิรุธในการสร้างราคาปั่นและทุบเหรียญของใคร และใครที่ได้ประโยชน์จากรูโหว่จากระบบของบิทคับ
ผวาระบบล่มหลอน-โดนแฮกเกอร์ทดสอบ
จุดที่นักลงทุนหรือลูกค้ายังคาใจบิทคับที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นความเสี่ยงที่ไม่มีใครกล้าการันตีจะไม่เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะปัญหา “ระบบล่ม” ของเครือข่ายบิทคับที่เคยเกิดขึ้น ทำให้การซื้อขายหยุดชะงักเมื่อวันที่ 2 วันที่ 3 และวันที่ 16 มกราคม 2564
รวมไปถึงระบบสำคัญ เช่น ระบบการฝากถอนเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล ระบบการแสดงข้อมูลทรัพย์สินลูกค้า ระบบการให้บริการติดต่อลูกค้า ทั้งหลายเหล่านี้เป็นปัญหาที่ก.ล.ต.ได้สั่งการให้บิทคับแก้ไขและเยียวยาผู้เสียหายมาโดยตลอด เพราะมีลูกค้าร้องเรียนจำนวนมาก เมื่อเทียบกับไบแนนซ์แล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้แทบจะไม่ค่อยเกิดขึ้น
อีกประการที่พูดกันในวงในเทคโนโลยีก็คือ ระบบการป้องกันความปลอดภัยจากการโจมตีของ “แฮกเกอร์” ซึ่งถือว่าสำคัญมากของตลาดซื้อขายคริปโตฯ โดยแม้ว่า แฮกเกอร์จะเลือก Exchange ที่เป็นเจ้าใหญ่ มีชื่อเสียงของโลก แต่ไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นกับบิทคับ ซึ่งเป็นเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ว่า บิทคับ พร้อมหรือไม่สำหรับการทดสอบอันตรายจากแฮกเกอร์
ที่ผ่านมา แฮกเกอร์เจาะเข้าระบบของเครือข่ายบล็อกเชนของเจ้าใหญ่ๆ หลายราย โดยรายล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา บล็อกเชน โรนิน เน็ตเวิร์ก เพิ่งถูกแฮกเกอร์โอนเงินออกจากระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 20,455 ล้านบาท มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในโลกของคริปโตเคอร์เรนซีเมื่อเทียบกับความเสียหายครั้งก่อนหน้าหลายครั้ง
บิทคับ=มาร์เก็ตติ้งคอมปะนี
จากทั้งหมด บทสรุปของบิทคับ จากสตาร์ทอัป อัปเกรดขึ้นมาเป็น “ยูนิคอร์น” ภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยการขี่กระแสขาขึ้นของ “บิตคอยน์” พร้อมกับความพยายามในการสร้าง “ลัทธิ” หรือการสร้างบคลิกให้ธุรกิจและตัวของ “ท็อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ให้เป็นดั่ง “เจ้าลัทธิ” ที่ปลุกเร้าเจ้าของธุรกิจ และคนดัง ด้วยการทุ่มงบประมาณการตลาดให้เชื่อไปในแนวทางเดียวกันกับบิทคับ บิทคับคือผู้ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกการเงิน และเชื่อมต่ออนาคตด้วยนวัตกรรมใหม่ พร้อมกับการปูพรมกวาดต้อนนักลงทุนหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์ นักเรียนมัธยม เด็กมหาวิทยาลัย ที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเองด้วยแคมเปญเช่น 10 บาทก็ลงทุนได้ เมื่อเทียบกับไบแนนซ์ หรือแม้แต่ศูนย์การซื้อขายคริปโตฯ ของไทยด้วยกันเองก็จะไม่ “บ้าคลั่ง” เช่นนี้ เห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจน ว่าบิทคับนั้นเอาการตลาดนำหน้าเพื่อรายได้ เพื่อผลกำไรทางธุรกิจ มากกว่าผลลัพธ์การพัฒนาตลาดคริปโตฯ
จิรายุส มักพูดเสมอถึง การเปลี่ยนแปลงโลกการเงินดิจิทัลที่จะเข้ามาดิสรัป หรือทำธุรกิจให้ชะงักงันได้หากไม่เข้าร่วมขบวนคล้ายๆ “เขียนเสือให้วัวกลัว” ส่วนของบิทคับ รอ “จับปลาตอนน้ำขุ่น” เมื่อธุรกิจตอบรับเข้าร่วมลัทธิบนความไม่รู้เรื่องของคริปโตฯ และเทคโนโลยีก็ต้องจ่ายค่าบริการและ “ราคาที่ต้องจ่าย” เพราะวาดหวังจะออกเหรียญของตัวเอง ทำกำไรเหมือน KUB ของบิทคับที่ทำตัวอย่างให้ดูแล้ว
ในความเป็นจริง เมื่อแบงก์ชาติออกกฎคุมเข้ม เช่น ห้ามนำเหรียญมาชำระสินค้าหรือบริการ นี่ก็ไปไม่เป็นหลายราย หรือกระทั่งล่าสุด ก.ล.ต.ออกหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดทำและส่งรายงานข้อมูลการซื้อขาย การแลกเปลี่ยน และการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าเพื่อประโยชน์ในการสอบทานทรัพย์สินของลูกค้า
นั่นหมายความว่า ก.ล.ต.ไม่ไว้ใจบริษัทที่ดูแลคริปโตฯ ของลูกค้าอาจจะไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ส่งผลให้นักลงทุนมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งความเสี่ยงนี้ย่อมกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจและเงื่อนไขทางการเงินของบริษัทต่างๆ อาจจะมีการเล่นแร่แปรธาตุไว้นอกงบการเงิน ไปปล่อยกู้กันเอง หลีกภาษี หรือแม้แต่ฟอกเงิน
ดังที่เป็นกระแสกังวลกันทั่วโลกของหมู่ Regulator ว่า สินทรัพย์ดิจิทัลถูกใช้เพื่อการมุ่งหวังทำกำไร สร้างความมั่งคั่งให้คนบางกลุ่มมากกว่ามุ่งพัฒนาเพื่อโลกการเงินในอนาคต โดยการทำทุกวิถีทางที่จะหาองค์กรธุรกิจมาเป็นลูกค้ายกกระแสเปลี่ยนแปลงมากล่าวอ้าง
เพราะฉะนั้นเวลาที่ จิรายุส เสนอผ่านสื่อจะโน้มน้าวให้เจ้าของธุริกิจ หรือชนชั้นนำของสังคม กลุ่มอีลิท ดารา เซเลบ ผ่านการตั้งหลักสูตร หรือโปรแกรม เช่น The chosen one เปลี่ยนองค์กร เปลี่ยนชีวิตให้หนีจากกับดัก “รายได้ปานกลาง” ที่ทำกันแค่สร้างผลผลิต และบริการ โดยบอกว่า เมืองไทยบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นยังไง ทุกวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม สูญเสียโอกาสมหาศาลใน ไปยึดติดกับการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ซึ่งพอจะอยู่รอดในยุคนั้นเท่านั้น วันนี้ทุกคนต้องสามารถสร้างธุรกิจในเลเยอร์ที่ 3-4-5 ขึ้นมาได้ เหมือนกับบิทคับ ที่ยกระดับจากสตาร์ทอัปมาเป็นยูนิคอร์น และกำลังจะก้าวต่อไปในอีกระดับที่สูงกว่า เพื่อรองรับการเติบโตสู่โลกใหม่ และทุกคนควรสนับสนุนให้บิทคับไปถึง level 4 คือ super app อยู่เหนือตลาด ถึงตรงนั้นต้องถามว่า คนไทย ประเทศไทยได้อะไรจากบิทคับ?
ด้วยนโยบายการขับเคลื่อนธุรกิจดังกล่าวของบิทคับ จึงไม่แปลกที่คนในวงการเทคโนโลยีจะมองว่า บิทคับเป็นเพียง Marketing Company ที่หากให้วิเคราะห์กันจริงๆ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมของบิทคับที่ว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะมาเปลี่ยนโลก เชื่อมต่ออนาคต ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ เทคโนโลยีเหล่านี้มีผู้พัฒนาเอาไว้อยู่แล้ว
ตรงกันข้าม วันนี้ระบบสำคัญของบิทคับยังพึ่งพาเชื่อมต่อกับการเงินแบบดั้งเดิมอยู่มาก เรียกว่า นำของที่มีผู้คิดค้นไว้เอาป้ายสติกเกอร์ใหม่ของตัวเองมาแปะทับเท่านั้นเอง
ที่หัวเราะไม่ออกร่ำไห้มิได้ คือ การบอกว่า โลกการเงินแบบเก่าซึ่งหมายถึงระบบการเงินที่พึ่งพาแบงก์ จะถูกดิสรัปด้วยเทคโนโลยีเงินดิจิทัล ทำการตลาดให้คนเชื่อมั่นเข้าสู่ธุรกิจเงินดิจิทัล แต่บิทคับกลับเสนอขายหุ้นบิทคับให้กลุ่มธนาคาร และ เชื่อว่าบรรดาผู้ก่อตั้ง รวมทั้ง จิรายุส เองก็ยังต้องฝากเงินในระบบธนาคารแบบดั้งเดิมเพื่อความปลอดภัยของตนเอง
ถึงวันนี้คนในวงการเทคโนโลยีหลายคนรู้สึก “ผิดหวัง” และ “เสียดาย” ที่ให้โอกาสบิทคับมาเชื่อมต่อระบบ โดยไม่เพียงไม่ให้เครดิต ยังนำระบบนั้นๆ ไปทำการตลาดเสนอลูกค้าโกยกำไร
แน่นอนว่า จิรายุส ก็รู้ซึ่งถึงข้อนี้ดี ระหว่างการพัฒนาสินทรัพย์ไปสู่โลกอนาคตจริงๆ บนความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดำเนินการเพื่อปกป้องทรัพย์สินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย รวมถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนด้านเทคโนโลยี กฎหมายและกฎระเบียบของแบงก์ชาติ และ ก.ล.ต.โดยเฉพาะการทำธุรกิจ “Exchange” นั้นอยู่บนความไม่แน่นอนไปด้วย ไม่เช่นนั้นคงไม่พยายามจะ “Exit” ออกจากธุรกิจที่ตั้งมากับมือ แว่วว่าใน 49% ที่เหลือในบิทคับออนไลน์ ทางบิทคับโฮลดิ้งส์กำลังวางแผนที่จะเสนอขายให้กับผู้สนใจอยากจะกระโจนเข้ามาเป็นเจ้าของตลาดซื้อขายคริปโตฯ
หากมองตามวิถีของสตาร์ทอัป เมื่อถึงจุดพีกแล้วต้องรีบ Exit ให้หมดเพื่อ “Win” ในธุรกิจก็มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มบิทคับจะทำ
นั่นหมายความว่า เป้าหมายใหม่ของบิทคับ หรือ Bitkub The next chapter อยู่ที่ Bitkub Chain Bitkub Next กับโปรแกรม The chosen one ที่เป็นกลุ่ม elite insider เหรียญสุดอันตราย ท่ามกลางความพินาศฉิบหายของแมลงเม่า ใน Bitkub exchange ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของ SCBX ที่ไปวัดดวงเอาในวันข้างหน้า
ประการสำคัญบทสรุปสุดท้าย ซีรีส์บิทคับ ตีแผ่เรื่องของธุรกิจคริปโตฯ ในอีกด้านจะเป็นอย่างไรที่มุ่งแต่ฉกฉวยหากำไร สร้างความร่ำรวยให้คนบางกลุ่ม มาถึงตรงนี้ 5 ตอน SCBX จะมีคำตอบอย่างไรให้บรรดาผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะสำนักงานทรัพย์สินฯ ผู้ถือหุ้นใหญ่ กับการจะทะเล่อทะล่าละเลงเงินลงทุน 17,850 ล้านให้ Bitkub Exchange หรือกลุ่มของ จิรายุส นั้นคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่อย่างไร นี่ก็ต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket/