“การบินไทย” เผย 3 แนวทางแก้ไขเข้าข่ายถูกเพิกถอนระยะที่ 2

“การบินไทย” เปิด 3 แนวทางหวังแก้ไขหุ้นเข้าข่ายถูกเพิกถอนระยะที่ 2 เดินหน้าเพิ่มส่วนผู้ถือหุ้นให้มากกว่าศูนย์ เร่งทำกำไรจากการดำเนินงานปกติ ขณะตัวเลขกำไรสิ้นปี 64 มีกำไรสุทธิ 55,113 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 71,250 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ที่ติดลบ 128,665 ล้านบาท

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งให้ THAI ทราบการประกาศให้อยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน กรณีมีการดำเนินงานหรือฐานะการเงินที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนระยะที่ 2 (NC ระยะที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2565 กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีค่าน้อยกว่าศูนย์ ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแนวทางในการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนและกำหนดระยะเวลาการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยสรุปดังนี้

1.การดำเนินการให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีค่ามากกว่าศูนย์

บริษัทฯ มีแผนที่จะปรับโครงสร้างทุน และโครงสร้างหนี้เพื่อทำให้บริษัทฯ สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน บริษัทฯ คาดว่าจะมีการเพิ่มทุน รวมถึงมีการให้สิทธิการแปลงหนี้เป็นทุนแก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นและลดภาระหนี้สิน โดยอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการปรับโครงสร้างทุนที่รองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน และการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งบริษัทฯ ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีทางเลือกในการได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถดำเนินการปฏิรูปธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างคำตอบแทนบุคลากร ตลอดจนการขายลงทุนและสินทรัพย์รองที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำไรอย่างมีนัยสำคัญให้บริษัท งบการเงินรวมสำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวน 55,113 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ จำนวน 71,250 ล้านบาท ติดลบลดลงเปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 128,665 ล้านบาท

2.การดำเนินการให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติ

ช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ออกมาตรการและดำเนินการตามเป้าหมายอย่างเข้มข้นเพื่อให้สามารถปฏิรูปธุรกิจโดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากธุรกิจการบิน รวมถึงผลักดันแหล่งรายได้เสริมอื่นๆ เช่น การเปิดภัตตาคารในบรรยากาศเสมือนให้บริการบนเครื่องบิน การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ “การบินไทย” จากชิ้นส่วนเครื่องบิน ตลอดจนการเปิดให้บริการเข้าเยี่ยมชมและทดลองการบินด้วยเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) อีกทั้งการเตรียมความพร้อมด้านความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เริ่มคลี่คลาย ตลอดจนปรับปรุงกิจการผ่านโครงการตามแผนปฏิรูปธุรกิจ (Transformation Initiatives) กว่า 400 โครงการ ซึ่งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนโครงการทั้งหมด รับทราบมูลค่าโครงการรวมในรูปแบบของต้นทุนดำเนินการที่ลดลงเมื่อระดับปริมาณการผลิตกลับไปเทียบเท่าปี 2562 เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ไปจนถึงการลดต้นทุนค่าวัสดุและบริการจากภายนอก ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรรวม โดยการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว ปรับปรุงต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายบุคลากรโดยการเทียบเคียงมาตรฐานอุตสาหกรรมและสายการบินชั้นนำในระดับเดียวกัน ลดจำนวนบุคลากรรวมลงมากกว่าร้อยละ 50 ส่งผลให้ลดต้นทุนลงประมาณร้อยละ 70

ส่วนด้านฝูงบินและการบริหารจัดการอากาศยานจากการเจรจาทำให้ต้นทุนด้านอากาศยานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และยังทำให้ประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการฝูงบินและมาตรฐานการให้บริการผู้โดยสารสูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งประเภทอากาศยานในฝูงบินปัจจุบันเป็นอากาศยานที่มีเทคโนโลยีทันสมัย อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ รวมถึงแบบเครื่องยนต์ที่ลดลงทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนอะไหล่คงคลังได้ดีขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 สายการบินต่างๆ กลับมาทำการบินมากขึ้น บริษัทฯ ได้เริ่มให้บริการเที่ยวบินและเส้นทางบินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 โดยพิจารณามาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศปลายทางเป็นหลัก ประกอบกับการคาดการณ์ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ในแต่ละเส้นทาง และการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปธุรกิจ การหารายได้เพิ่มเติมในช่วงที่สถานการณ์การบินยังไม่กลับมาเป็นปกติ การปรับเพิ่มเที่ยวบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่รองรับการขนส่งสินค้ามากขึ้น และการเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่สนับสนุนการบินจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้กำไรสุทธิของบริษัทฯ กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

3.กำหนดระยะเวลาการดำเนินการ

ตามที่เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นผู้บริหารแผน และมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ตามประมาณการทางการเงินของบริษัทฯ บริษัทฯ คาดว่าจะกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานได้ในปี 2566 ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จะกลับมามีค่ามากกว่าศูนย์ได้ในปี 2567 ซึ่งหากพิจารณาประกอบกับข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และแนวทางการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้ระยะเวลาบริษัทฯ ในการแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปภายในระยะเวลา 3 ปี (NC ระยะที่ 3 คือวันที่ 7 มีนาคม 2567) จะพบว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาข้างต้น บริษัทฯ อาจยังไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปได้ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในขณะนั้นอาจยังคงมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ดังนั้น บริษัทฯ จะดำเนินการยื่นคำขอขยายระยะเวลาอีก 1 ปี โดยชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการขอผ่อนผัน ตลอดจนชี้แจงถึงคุณสมบัติตามเกณฑ์การขอขยายเวลาการฟื้นฟูกิจการล่วงหน้าก่อนวันครบกำหนดประกาศ NC ระยะที่ 3 ต่อไป

อย่างไรก็ดี การประมาณการทางการเงินของบริษัทฯ อยู่ภายใต้สมมติฐานของแผนการปรับโครงสร้างทุนและสมมติฐานของปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการขยายตัวทางธุรกิจ การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกับผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัทฯ ในอนาคต ดังนั้น บริษัทฯ อาจยังไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปได้ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ยังคงมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ซึ่งบริษัทฯ อาจพิจารณายื่นคำขอผ่อนผันเพิ่มเติมโดยชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็น รวมถึงคุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดในด้านอื่นๆ เช่น บริษัทฯ มีธุรกิจหลักที่จะประกอบธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง มีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างชัดเจนตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ผ่านความเห็นชอบจากศาลรวมถึงได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยสารสนเทศอย่างครบถ้วน เป็นต้น ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเสนอคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพิจารณาผ่อนผันหรือเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะแจ้งถึงความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงความคืบหน้าอื่นๆ เพิ่มเติมให้ทราบต่อไป

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket

admin